วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2550

กรณีศึกษา:ประสบการณ์แบบญี่ปุ่น

บทความฉบับนี้เป็นกรณีศึกษา:ประสบการณ์แบบญี่ปุ่น จากหนังสือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาซึ่งได้กล่าวถึงการปลูกฝังให้นักเรียนทำงานเป็นทีมของโรงเรียนประถมศึกษา Gyodanishi ได้แก่
1.การทำความสะอาดตึกเรียน
**โรงเรียนประถม Gyodanishi ไม่มีนักการภารโรงที่จะทำหน้าที่ทำความสะอาดให้โรงเรียน จะมีแต่ผู้ทีทำหน้าที่คล้ายแม่บ้าน 1 คน คอยทำความสะอาดห้องพักครู ห้องครูใหญ่ ห้องธุรการ และรดน้ำต้นไม้ของโรงเรียนเท่านั้น การทำความสะอาดโรงเรียนจึงเป็นหน้าที่ของนักเรียนโดยตรง โดยมีครูประจำชั้นคอยกำกับ ช่วงเวลา13.25-13.45 เป็นช่วงเวลาของการทำความสะอาดห้องเรียน ระเบียงและห้องปฏิบัติการต่างๆ เมื่อถึงเวลาของการทำความสะอาดดังขึ้น นักเรียนจะรู้จักหน้าที่ของตนเองดี โดยมีการแบ่งหน้าที่เป็นกลุ่มๆคือ
*กลุ่มแรกทำความสะอาดในห้องเรียน
*กลุ่มที่สองทำความสะอาดระเบียง
*กลุ่มที่สามจะขึ้นไปทำความสะอาดที่ห้องปฏิบัติการ
วิธีการทำความสะอาดห้องเรียนหรือห้องปฏิบัติการจะเหมือนกัน คือต้องยกเก้าอี้ขึ้นบนโต๊ะ แล้วเลื่อนโต๊ะไปรวมกันที่ด้านหนึ่ง หลังจากนั้นจะกวาดและเช็ดด้วยผ้าเปียก เมื่อเสร็จครึ่งห้องก็จะทำวิธีเดียวกัน โดยเลื่อนโต๊ะไปรวมกันด้านตรงข้าม เมื่อทำความสะอาดพื้นเสร็จเด็กๆจะช่วยกันจัดโต๊ะเรียนให้เข้าที่เดิม การทำความสะอาดระเบียงก็เช่นกัน จะใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตลอดแนว การทำความสะอาดจะใช้เวลา 20นาที ทุกห้องก็จะสะอาดพร้อมที่จะใช้สำหรับชั่วโมงต่อไป
นอกจากนี้ ครู เจ้าหน้าที่ แขกของโรงเรียนและนักเรียนจะต้องเปลี่ยนรองเท้าสำหรับใส่เข้าตึกเสมอ จะมีการแยกอย่างชัดเจนระหว่างรองเท้าใส่นอกตึงกับรองเท้าใส่ในตึก ซึ่งเป็นวิธีช่วยให้โรงเรียนสะอาดอยู่เสมออีกทางหนึ่ง
2. กิจกรรมรับประทานอาหาร
ในโรงเรียนประถม Gyodanishi จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลอาหาร 1 คน และมีแม่ครัว 5 คนมีหน้าที่ปรุงอาหาร เมื่อได้เวลาส่งอาหารให้นักเรียน แม่ครัวจะจัดอาหารใส่รถเข็น โดยแบ่งไปตามจำนวนห้อง จานช้อนต่างๆจะพอดีกับจำนวนนักเรียนในแต่ละห้อง
เมื่อถึงเวลาของอาหารกลางวันเด็กๆจะช่วยกันจัดโต๊ะเรียนโดยแยกเป็นกลุ่ม โดยมีเด็กในห้อง 8 คน ไปนำอาหารที่แม่ครัวจัดไว้ให้เข็นขึ้นมาที่ห้อง เด็กทั้ง 8 คนจะเป็นผู้ตักอาหารใส่จานและนำไปตั้งบนโต๊ะเรียนจนครบ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จเด็กที่รับผิดชอบทั้ง 8 คนจะนำภาชนะทั้งหมดใส่รถเข็นและนำไปคืนให้แม่ครัว เด็กที่รับผิดชอบทั้ง 8 คนจะมีการเปลี่ยนเวรกันภายในห้องอาทิตย์ละ 1 ชุด และทุกห้องก็จะทำเช่นเดียวกัน

**จากการอ่านบทความจะเห็นได้ว่าการฝึกเด็กของญี่ปุ่นนั้นเด็กจะได้รับการฝึกทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ และเป็นการสอนให้รู้จักใช้ชีวิต การให้ความร่วมมือเมื่อยู่กับผู้อื่น ฝึกความรับผิดชอบร่วมกัน และสอนในรายละเอียดทุกขั้นตอนและต่อเนื่อง และการฝึกเด็กของญี่ปุ่นเน้นการปฏิบัติเป็นหลัก และเป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง คนญี่ปุ่นจึงถนัดในเรื่องการทำงานเป็นทีม
เมื่ออ่านบทความและได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนครูที่ไปญี่ปุ่นพบว่าทุกโรงเรียนของญี่ปุ่นจะทำเช่นเดียวกัน แสดงว่าการปลูกฝังเรื่องต่างๆให้กับเด็กมีทิศทางที่แน่นอน และเหมือนกันซึ่งน่าจะนำมาปรับใช้ในโรงเรียนบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น: